http://www.phuphadang.go.th/system_files/209/3761f869e247f6540b2d9290c3804179.pdf
โครงสร้างส่วนราชการ
โครงสร้างอำนาจหน้าที่ของเทศบาล
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แบ่งโครงสร้างของเทศบาลออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี สำหรับการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเทศบาลแล้วจะมีโครงสร้างเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง คือ พนักงานเทศบาล
1. สภาเทศบาล
สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาลที่ราษฎรเลือกตั้ง จำนวน 12 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล ตามมติของสภา สภาเทศบาลมีหน้าที่ ตราเทศบัญญัติ อนุมัติงบประมาณและพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด และตรวจสอบควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร
2. นายกเทศมนตรี
ฝ่ายบริหาร คือ นายกเทศมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรี จำนวน 2 คน ที่ปรึกษาและเลขานุการ
3. พนักงานเทศบาล
ให้เทศบาลมีพนักงานเทศบาลและจัดแบ่งการบริหารออกเป็นส่วน ๆ ตามปริมาณและคุณภาพของงาน โดยมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานประจำทั่วไปของเทศบาล สำหรับเทศบาลตำบลภูผาแดง แบ่งส่วนราชการออกเป็น 7 กอง คือ
1. สำนักปลัดเทศบาล
2. กองวิชาการและแผนงาน
3. กองคลัง
4. กองช่าง
5. กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
6. กองการศึกษา
7. กองสวัสดิการสังคม
อำนาจหน้าที่ของเทศบาล
1. อำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาล
อำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาลโดยทั่วไปในขอบเขตที่กว้างที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าสภาเทศบาลเป็นองค์กรที่มีหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. กำหนดนโยบายในการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
2. อนุมัติงบประมาณประจำปีให้แก่คณะเทศมนตรีเพื่อนำไปใช้จ่ายในการปฏิบัติงานในหน้าที่ต่อไป
3. ควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะเทศมนตรีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย นโยบายและเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาลโดยละเอียดแล้วสามารถกำหนดออกได้ 3 ประการ คือ
1. อำนาจในการตราเทศบัญญัติ
2. อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร
3. อำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการของสภาเทศบาล
2. อำนาจหน้าที่ของเทศบาล
2.1 อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายจัดตั้งเทศบาลกำหนด
2.2 อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายเฉพาะอื่น ๆ กำหนด
2.3 หน้าที่ที่จัดทำนอกเขตเทศบาล
2.4 หน้าที่ที่จัดทำร่วมกับบุคคลอื่น
2.5 การจัดตั้งสหการ
อำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบล
อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตำบลไว้ เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายเทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
1.รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2.ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ
3.รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
4.ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
5.ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
6.ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
7.ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้บริการ
8.บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9.หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยใช้วิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาเทศบาล การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงานและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้นและหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
มาตรา 51 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลอาจจัดทำกิจการใดๆในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้
1.ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
2.ให้มีโรงฆ่าสัตว์
3.ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือและท่าข้าม
4.ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
5.บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
6.ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
7.ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
8.ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
9.เทศพาณิชย์
อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 หมวด 2 การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 16 ให้เทศบาลมีอำนาจและหน้าที่ ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นด้วยตนเองดังนี้
1.การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
2.การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
3.การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
4.การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ
5.การสาธารณูปการ
6.การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
7.การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน
8.การส่งเสริมการท่องเที่ยว
9.การจัดการศึกษา
10.การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
11.การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
12.การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
13.การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
14.การส่งเสริมการกีฬา
15.การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
16.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
17.การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
18.การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
19.การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
20.การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
21.การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
22.การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
23.การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัยโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
24.การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
25.การผังเมือง
26.การขนส่งและการวิศวกรรมจราจร
27.การดูแลรักษาที่สาธารณะ
28.การควบคุมอาคาร
29.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
30.การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
31.กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
|