เข้าสู่ฤดูฝนหลายคนคงได้ยินข่าว “โรคไข้เลือดออก” โรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากไวรัสเดงกี่ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งต้องบอกว่าโรคนี้อันตรายถึงชีวิตถ้าได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที แต่คุณป้องกันได้ด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายหาหะร้ายนำโรคไข้เลือดออกไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่คนกันนะคะ
ก่อนอื่นต้องรู้ “ยุงลาย” ตัวเล็กๆ แต่น่ากลัวกว่าที่คิด ทางที่ดีที่จะป้องกันโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้น คือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้โดนยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย ถ้ากำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบๆ บ้านได้จะยิ่งดี ยุงลายที่กัดเราแล้วจะทำให้เป็นโรคไข้เลือดออกมีเฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้น เพราะยุงลายตัวเมียต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อสร้างไข่ และมักจะออกหาเหยื่อในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน ฉะนั้นช่วงกลางวันจึงเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ต้องเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาไหนๆ ก็อย่ายอมให้ยุงมาดูดเลือดเลยน่าจะปลอดภัยกว่า
เช็คอาการสัญญาณอันตราย “ไข้เลือดออก”
ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะแสดงอาการ คือ มีไข้สูง 38.5 – 41 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีจุดเลือดตามตัว หากอาการรุนแรงจะเหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว อาจถึงกับช็อกแล้วเสียชีวิตได้ สัญญาณอันตรายก่อนเกิดภาวะช็อกคือ “ไข้เริ่มลดลง”
ข้อควรระวังและการป้องกัน “โรคไข้เลือดออก”
1.สำรวจบ้านหรือรอบบ้าน ไม่ให้มีน้ำขังแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
2.เมื่อมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้กลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการอีกครั้ง
3.อาการจะแสดงชัดเจนในวันที่ 3 และ 4 ในระยะนี้ต้องอยู่ใกล้ชิดแพทย์
การดูแลเมื่อป่วยไข้เลือดออก
1.ทานยาลดไข้ (ห้ามใช้แอสไพริน)
2.ดื่มน้ำมากๆ โดยดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือแร่แทนน้ำเปล่า
3.ดูอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการปวดท้องกระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าเย็น ควรพบแพทย์ทันที
เห็นไหมล่ะว่ายุงลายตัวเล็กๆ แต่อันตรายกว่าที่คิด ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือกำจัดลูกน้ำยุงลาย ยึดหลัก 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย เก็บขยะให้เกลี้ยงให้ยุงลายเพาะพันธุ์ เก็บปิดน้ำให้มิดชิดใหม่ให้ยุงลายวางไข่ และอย่าปล่อยให้ยุงลายกัด ก็เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วละค่ะ